Judul : ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย
link : ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย
ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย
tinggalaja.blogspot.com
หลายคนอาจจะยังพอจำผู้ชายหุ่นท้วมที่มักปรากฏตัวพร้อมกับหุ่นในมือในรายการโทรทัศน์หลายรายการเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
เขามักพูดคุยรับส่งมุกตลกไปมากับหุ่นโดยที่เขาไม่ขยับปากพูดจนเหมือนกับว่าหุ่นที่อยู่ข้างกายเขานั้นมีชีวิตและพูดได้จริง ๆ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพชายร่างท้วมพร้อมกับหุ่นมือคู่ใจก็เลือนหายไปตามกาลเวลา
"ผมโดนแกล้งหนักมาก ตอนผมเป็นเด็ก ผมเป็นเด็กอ้วนดำที่เพื่อน ๆ ไม่คบ แข่งกีฬาก็แพ้ เป็นประเภทที่เพื่อน ๆ ไม่ต้องการครับ" ต้น ธรรมรัตน์ หลำพรม หรือที่เคยเป็นที่รู้จักในชื่อ "ต้นหุ่นพูดได้" เริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้กับบีบีซีไทยฟัง
ธรรมรัตน์ฝันอยากเป็นตลกตั้งแต่เด็ก เพราะรู้สึกว่าการเล่าเรื่องตลก จะช่วยเขาให้เป็นที่ยอมรับ และช่วยให้เอาตัวรอดจากการถูกเพื่อนแกล้งในวัยเด็กได้ ซึ่งก็ไม่ผิดจากที่คาดหวังไว้ เมื่อเขาเริ่มจำมุกตลกคาเฟ่จากรายการทีวีมาเล่าให้เพื่อนฟัง ธรรมรัตน์ก็กลายมาเป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับเพื่อนในห้อง กลายมาเป็นคนที่เพื่อนทุกกลุ่มต้องการ
"ตอนนั้นจำได้ว่า คุณครูถามว่าใครมีอะไรอยากจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังบ้างไหม ผมก็ยกมือเลย เดินออกไปหน้าห้องเรียน แล้วก็เริ่มเล่า เพื่อน ๆ ก็ฮากันมาก หัวเราะกันทั้งห้อง สำหรับผมในตอนนั้น เหมือนเราเจอเส้นทางของตัวเองแล้ว แล้วก็ตั้งใจตั้งแต่วันนั้นเลยว่า โตขึ้นจะเป็นตลกให้ได้"
โน้ส อุดม คือ ไอดอล
เมื่อเส้นทางฝันชัดเจน ธรรมรัตน์จึงพยายามฝึกฝนด้วยการเลียนแบบมุกตลกของนักแสดงตลกดัง ๆ มาเล่นกับเพื่อน จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ธรรมรัตน์มีตลกในดวงใจคนใหม่ คือ โน้ส อุดม แต้พานิช ซึ่งในยุคนั้นนับว่าเป็นตลกแนวใหม่ ด้วยการแสดงแบบ "เดี่ยวไมโครโฟน" ที่โด่งดังมากในช่วงนั้น ธรรมรัตน์เลียนแบบโน้สแทบทุกอย่าง ทั้งการแต่งตัว ลีลาการแสดงและมุกตลก
"ผมเลียนแบบทุกอย่างที่เป็นพี่โน้ส ทั้งการแต่งตัว การพูด การเล่นมุกตลก ผมทำแบบนั้นอยู่เป็นปี ๆ เลยนะ" ธรรมรัตน์เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม แต่รอยยิ้มของเขาก็เหือดแห้งลงไปในทันที เมื่อเขาเล่ามาถึงคำพูดประโยคหนึ่งที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาพูดกับเขา ซึ่งเป็นประโยคที่เปลี่ยนชีวิตของเขาตั้งแต่บัดนั้น
"ต้น ไม่มีใครเขาอยากใช้เหรียญบาทปลอมหรอก ถ้าเอ็งเจ๋งจริง หาแนวทางตลกของตัวเองสิ ในโลกนี้ไม่มีอุดมคนที่สองหรอก (โน้ส) อุดมมีได้แค่คนเดียว"
ธรรมรัตน์บอกว่าเขาเก็บเอาคำพูดของเพื่อกลับไปคิดอยู่นาน และมองหาทางที่จะเป็นนักแสดงตลกในแบบฉบับของตัวเองที่ไม่ต้องเลียนแบบใครอีกต่อไป
วันหนึ่งเขาได้ดูรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่นำเทปการแสดงหุ่นพูดได้จากต่างประเทศมาออกในรายการ ทำให้ต้นได้ค้นพบแนวทางของตัวเอง ต้นจึงตัดสินใจออกเดินทางตามหาความฝันของเขา
"ผมเจอสมพงษ์จากการดูโชว์การเล่นหุ่นนรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการเล่นตลกที่คนกับหุ่นจะคุยกันโดยคนเล่นหุ่นจะพูดโดยไม่ขยับริมฝีปาก เวลาหุ่นพูด คนดูจะรู้สึกว่าหุ่นพูดเองได้ ผมรู้เลยในทันทีว่านี่คือสิ่งที่ใช่สำหรับผม"
รายการทีวีนั้นคือแรงบันดาลใจให้ธรรมรัตน์เสาะหาที่เรียนรู้ฝึกฝน จนได้รับคำแนะนำจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นว่า ที่ญี่ปุ่นมีการสอนเล่นหุ่นแบบนี้ เขาจึงตัดสินใจพักการเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อไปเรียนการเล่นหุ่นที่ญี่ปุ่น
"ปริญญาข้างถนน" จากญี่ปุ่น
การหยุดเรียนกลางคันเพื่อไปตามฝันทำให้เขาต้องเจอคำถามมากมายจากคนรอบตัว รวมไปถึงคำดูถูก ถากถางจากอีกหลายคน แต่เขาก็ไม่เปลี่ยนความตั้งใจ ในที่สุดธรรมรัตน์ก็ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการโกหกทางบ้านว่าได้ทุนไปเรียนโฆษณาเป็นเวลา 1 ปี
"เมื่อไปถึงที่ญี่ปุ่น ผมก็ไปขออาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อน เพื่อนก็ใจดี ให้กินฟรี อยู่ฟรี ผมก็ตามหาเลยโรงเรียนที่สอนเล่นหุ่นพูดได้อยู่ที่ไหน หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จนในที่สุดผมก็ไปเจอชาวอเมริกันคนหนึ่ง เป็นศิลปินเปิดหมวกกำลังยืนแสดงหุ่นพูดได้อยู่ข้างถนน ผมไม่รอที่จะเข้าไปขอให้เขาสอนให้ แต่คำตอบที่ได้ในครั้งนั้นคือ ไม่สอน" เขากล่าวพร้อมหัวเราะ
ธรรมรัตน์ไม่หยุดความพยายาม เขากลับไปหาชายชาวอเมริกันคนนั้นอีกเพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ก็ยังถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดเขาใช้วิธีไปนั่งเฝ้า นั่งดูการแสดงแทน ซื้ออาหารติดมือไปฝากทุกครั้งที่ไป ทำอย่างนั้นอยู่นานร่วม 1 เดือน ในที่สุดศิลปินชาวอเมริกันคนนั้นก็ยอมสอนเขาเล่นหุ่นพูดได้ ซึ่งธรรมรัตน์ใช้เวลาฝึกอยู่ราว 2 เดือน เริ่มจากการฝึกพูด ชูมือขึ้นมาสามนิ้ว นิ้วชี้และนิ้วกลางทาบอยู่บนริมฝีปาก ส่วนนิ้วนางทาบไว้ที่คาง และฝึกพูดไม่ให้ปากขยับ จนคล่องแคล่ว และเขาก็เรียนจบได้ "ปริญญาข้างถนน" กลับมาฝากคนที่เมืองไทยในที่สุด
กลับสู่โลกความเป็นจริง
ธรรมรัตน์ใช้เวลาเพียง 90 วันในการตามหาครูและเรียนรู้วิชาเล่นหุ่นจนสำเร็จ แต่เขาก็ยังกลับบ้านไม่ได้เพราะโกหกที่บ้านเอาไว้ว่าได้ทุนมาเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี เขากลับมาไทยและใช้เวลาอีก 275 วันที่เหลือด้วยการไปแอบไปอาศัยอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หารายได้เพื่อไม่ให้เป็นภาระ จนครบกำหนดเวลาที่บอกกับแม่เอาไว้ จึงกลับบ้านและกลับมาเรียนต่อ
"ผมกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ในช่วงนั้นผมก็โดนดูถูก ถากถางต่าง ๆ นานา บ้างก็บอกว่าผมเป็นคนจับจด บางคนก็บอกว่าคนแบบผมไม่มีทางเจริญ ไม่มีทางก้าวหน้า"
ธรรมรัตน์เล่าว่า หลังจากเรียนจบเขาหางานทำไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากกลับไปทำสวนลำไยที่บ้าน จึงตัดสินใจเปิดร้านเช่าการ์ตูนควบคู่ไปกับการแอบซ้อมหุ่นที่ด้านหลังของร้าน ตอนนั้นเองที่เขาตั้งชื่อหุ่นคู่ใจว่า "สมพงษ์"
โอกาสที่ไม่ได้มาพร้อมความสำเร็จ
ธรรมรัตน์เขียนจดหมายส่งไปตามรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสให้ตัวเองได้นำหุ่นสมพงษ์ไปแสดง แต่ก็ไม่มีรายการไหนติดต่อกลับมา แต่เขาก็ไม่ละความพยายาม จนกระทั่งรายการ "ตีสิบ" วาไรตี้โชว์ชื่อดังในยุคนั้นตกลงให้เขาไปออกรายการ
"ตอนนั้น สำหรับผมมันเหมือนได้ปลดปล่อยความกดดันทุกอย่างที่แบกรับมาโดยตลอด ผมฝันเห็นตัวเองเป็นตลกซูเปอร์สตาร์แล้ว ใจพองโตมากครับ ดีใจที่ฝันกำลังจะเป็นจริง ซ้อมหนักมากเพื่อเตรียมออกรายการตีสิบนะครับ ดังมากสมัยนั้น"
ธรรมรัตน์ได้ออกรายการตีสิบในช่วง Talent Show เทปแรกที่ไปแสดงนั้น ผลตอบรับจากคนดูดีมาก ทำให้ทางรายการทาบทามเขาให้มาแสดงอีกเป็นครั้งที่สอง โดยบอกกับเขาว่าถ้าเสียงตอบรับจากคนดูยังดีอยู่จะให้เขามาแสดงประจำรายการเลย
แต่ผลปรากฏว่าเขาแสดงได้ไม่ดีพอ ทำให้ทีมงานตัดช่วงที่มีเขาร่วมแสดงออกไปเกือบทั้งหมด ความหวังที่จะได้เป็นนักแสดงประจำรายการตีสิบจบสิ้นลง
"ผมรู้ตัวเองเลยว่าประสบการณ์เราไม่ถึง ประสบการณ์เราน้อยเกินไป มันเหมือนเราตกจากที่สูง เราฝันว่าเราไปถึงเส้นชัยแล้ว จะเอื้อมมือจับสิ่งที่เราฝันได้อยู่แล้ว แต่แล้วมันก็พลาดร่วงลงมา"
ความผิดหวังครั้งนั้นทำให้ธรรมรัตน์หยุดทำทุกอย่างไปนานร่วมปี และไม่สามารถดูรายการตีสิบได้เลย เพราะทุกครั้งที่ดูก็จะร้องไห้ออกมา เขาปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพแบบนั้นอยู่นาน จนกระทั่งอ่านเจอข้อความในหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งที่ทำให้เขามีกำลังใจที่จะกลับมาซ้อมเล่นหุ่นอีกครั้ง
ข้อความอันทรงพลังนั้นคือ "ไม่มีใครทำลายความฝันเราได้นอกจากตัวเราเอง"
เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นพลัง
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะกลับมาแสดงหุ่นอีกครั้ง ธรรมรัตน์ก็ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ โน้ส อุดม ด้วยเชื่อว่าเขาจะต้องประสบความสำเร็จหากได้ฝึกฝนและเรียนรู้เก็บเกี่ยววิชาจากศิลปินต้นแบบของเขา ธรรมรัตน์ได้สมัครเรียนคอร์สหนึ่งที่สอนโดยอุดม
วันสุดท้ายของการเรียน ธรรมรัตน์รวบรวมความกล้าเดินเข้าไปหาศิลปินในดวงใจของเขา พร้อมกับแนะนำตัวและขอฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา
"เรียนเสร็จวันนั้น ผมก็วิ่งไปดักที่หน้าพี่โน้ส และก็พูดกับแกด้วยความตื่นเต้นว่า พี่โน้สครับผมอยากเป็น stand up comedy แบบพี่โน้สครับ ผมเล่นหุ่นพูดแบบไม่ขยับปากครับ พี่ช่วยสอน ช่วยเป็นอาจารย์ให้ผมหน่อยได้ไหมครับ"
โน้สบอกว่าจำเขาได้จากรายการตีสิบและตอบตกลง จากวันนั้น ธรรมรัตน์ใช้เวลากว่า 2 ปี คอยเรียนรู้ ฝึกฝน และช่วยงานโน้ส อุดม รวมทั้งเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านของศิลปินตลก ช่วงนั้นเขาได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์มากกว่า 20 รายการ และยังมีรายการที่แสดงประจำและเล่นละครโทรทัศน์อีกด้วย
ความมีชื่อเสียงโด่งดังมาพร้อมกับ "อัตตา" (ego) ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อเขาได้รับรางวัลที่ 4 ในการประกวดหุ่นพูดได้ที่สหรัฐอเมริกา จากผู้เข้าแข่งขัน 400 คน ก็ยิ่งทำให้เขาคิดว่าตัวเองเก่งขั้นสุด แต่สิ่งนี้เองที่กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาผลงาน
วันหนึ่งโน้ส อุดม ได้ชมการแสดงของธรรมรัตน์ในงานหนึ่ง และรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติในการแสดงของเขา
" 'ต้น เอ็งคิดมุกไม่ออกมานานหรือยัง' คือคำถามแรกที่พี่โน้สถามผม และผมก็ตกใจว่าทำไมแกรู้ว่าผมคิดมุกไม่ออก พี่โน้สก็พูดมาคำหนึ่งว่า 'อีโก้เยอะ ดูไม่เป็นธรรมชาติ ตลกที่ดีต้องมีความเป็นธรรมชาติ' ผมก็เก็บกลับมาคิด คิดอยู่นานเลย จนสุดท้ายผมก็ตัดสินใจหยุดเล่นหุ่น"
จากหุ่นไปกาแฟ หยุดเพื่อก้าวไปข้างหน้า
หลังจากที่ตัดสินใจหยุดเล่นหุ่น ธรรมรัตน์เล่าว่า สิ่งเดียวที่คิดออก ณ เวลานั้นคือการเปิดร้านกาแฟ แต่เนื่องจากเขาไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำร้านกาแฟมาก่อน กิจการนี้จึงไม่ง่ายสำหรับเขา ทั้งเลือกวิธีชงกาแฟที่ไม่เหมาะ จนลูกค้าทักว่า "ไม่อร่อย"
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เขาไม่ละความพยายาม โชคดีที่ยายทวดของภรรยาชาวญี่ปุ่นของเขามีความรู้ในการชงกาแฟแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมด้วยการใช้หม้อโมก้าพอต (moka pot) จึงทำให้ร้านกาแฟของเขาแตกต่างจากร้านอื่น ๆ
เขาเปิดร้านกาแฟมาได้ 5 ปีแล้ว เป็น 5 ปีที่ทุลักทุเลอยู่พอสมควร และเกือบจะถอดใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ยายทวดของภรรยามักให้กำลังใจเขาทำให้เขามีแรงทำร้านกาแฟต่อไป
ยายทวดบอกเขาเสมอว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจอคนที่ไม่เข้าใจเรา สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้เขาเข้าใจ แค่ลงมือและทำ จนกว่าเขาจะเข้าใจ
"ครั้งหนึ่งมีลูกค้าคนหนึ่งเข้ามาในร้าน เพื่อมาดูผมทำกาแฟ นั่งดูไปสักพัก เขาก็พูดต่อหน้าลูกค้าผมว่า มีคนส่งผมมาดูคุณทำกาแฟ เพราะเขาไม่พอใจวิธีที่คุณทำกาแฟแบบนี้ คุณทำร้านเป็นแบบ speciality แต่คุณต้มกาแฟแบบนี้ คุณมันมั่ว"
วันต่อมาชายคนเดิมถือแก้วกาแฟของร้านดังเข้ามานั่งดื่ม โดยไม่สั่งกาแฟที่ร้านของธรรมรัตน์ และพูดว่า "ผมเอาแก้วกาแฟร้านนี้มาเยาะเย้ยคุณ" ก่อนจะเดินออกจากร้านไป
หลังจากเหตุการณ์นั้น ธรรมรัตน์ยังคงมุ่งมั่นที่ทำให้กาแฟแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมสูตรยายทวดให้เป็นที่รู้จักของคอกาแฟชาวไทยให้ได้ จนวันนี้ร้านของเขาเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แม้แต่ชายที่เคยเยาะเย้ยเขาก็เปิดใจยอมรับ
"วันหนึ่งเขามาที่ร้านผม ยื่นไส้กรอกอีสาน ให้ผม 1 ถุง แล้วบอกว่าเขาซื้อมาฝากผม" อดีตนักเล่นหุ่นเล่าทั้งน้ำตา
แม้จะวุ่นอยู่กับกิจการร้านกาแฟ แต่ธรรมรัตน์ยังคิดถึงอนาคตของหุ่นสมพงษ์อยู่เสมอ และมักจะใช้เวลาว่าง ๆ คิดหาแนวทางในการเล่นหุ่นของเขาใหม่ และหวังว่าจะได้พาสมพงษ์กลับมาร่วมผจญภัยกันใหม่ในไม่ช้า -
เขาบอกว่าการกลับมาอีกครั้งของหุ่นสมพงษ์อาจไม่ได้ตลกเหมือนที่เคยเป็นในอดีต เขาขอแค่เพียงทำให้ผู้ชมมีรอยยิ้มหรือมีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ก็ทำให้คนเล่นหุ่นอย่างเขามีความสุขมากแล้ว
"มีชีวิต" - Google News
June 06, 2020 at 10:13AM
https://ift.tt/3gZjUrH
ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย
"มีชีวิต" - Google News
https://ift.tt/36bh0LC
Home To Blog
Demikianlah Artikel ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย
Anda sekarang membaca artikel ตามฝันบนขวากหนาม ชีวิตของเด็กชายที่อยากเล่นตลก สู่ "ต้นหุ่นพูดได้" และคนขายกาแฟ - บีบีซีไทย dengan alamat link https://ifknews.blogspot.com/2020/06/blog-post_62.html
Tidak ada komentar:
Posting Komentar